วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติภาพยนตร์ไทย

ภาพยนตร์เป็นสื่อให้ความบันเทิงที่มีอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานับร้อยปี การเริ่มต้นและเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเมืองไทย เกือบเป็นไปในลักษณะคู่ขนานกับการเริ่มต้นและเติบโตของภาพยนตร์ในส่วนต่างๆของโลก  การสร้างหนังในเมืองไทยก็เริ่มต้นและพัฒนาไปพร้อมๆกับพัฒนาการของหนังในส่วนอื่นของโลกเช่นกัน
หนังไทยยุคเริ่มต้น
ประวัติภาพยนตร์ไทยเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2439 เมื่อพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนสิงคโปร์ และ ชวา วันที่ 10 สิงหาคม พระองค์ท่านมีโอกาสทอดพระเนตรหนังประเภทที่เรียกว่า Kinestoscope หรือภาพยนตร์แบบถ้ำมองของคณะหนังเร่ของนาย Thomas Edison ซึ่งมีผู้นำมาเล่นถวาย พระพุทธเจ้าหลวงจึงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ชมภาพยนตร์
ปีถัดมา S.G. Marchovsky และคณะนำเอาหนังของพี่น้องตระกูล  Lumiere แบบที่เรียกว่า Cinematograph เข้ามาฉายในกรุงสยาม การฉายหนังครั้งนั้น เป็นการฉายหนังให้สาธารณะชนดูเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2440 รอบแรกที่หนังออกฉาย โดยจัดฉายที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ ตั้งอยู่ที่ถนนเจริญกรุง แกล้ประตูสามยอด
ปี 2447 คณะฉายภาพยนตร์แบบหนังเร่ชาวญี่ปุ่นนำหนังเข้ามาฉาย หนังส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์การสู้รบระหว่าง ญี่ปุ่นกับรัสเซีย ซึ่งกำลังต่อสู้กันในขณะนั้น การฉายใช้วิธีกางผ้าใบชั่วคราวในบริเวณลานว่างของวัดชัยชนะสงคราม หรือวัดตึก
เมื่อเห็นว่าการฉายหนังครั้งแรกได้ผลดี ปีถัดมาคณะหนังเร่คณะเดียวกันก็กลับมาฉายหนังเร่ในเมืองไทยอีกครั้ง และครั้งนี้ได้สร้างโรงภาพยนตร์ชั่วคราวขึ้นในบริเวณที่ร้างข้างๆบริเวณที่ต่อมามีการสร้างศาลาเฉลิมกรุง จึงเป็นเหตุให้นักธุรกิจชาวสยามคิดสร้างโรงภาพยนตร์ตามบ้าง จึงมีโรงหนังเกิดขึ้นทีละโรงสองโรง เช่น โรงกรุงเทพซินีมาโตกราฟ บริษัทรูปยนต์กรุงเทพ หรือโรงหนังวังเจ้าปรีดา เป็นต้น
เพราะเหตุที่หนังทีมาฉายที่โรงหนังชั่วคราวนั้นเป็นของคนญี่ปุ่น ชาวกรุงเทพจึงเรียกหนัง

ยุคนั้นว่า 'หนังญี่ปุ่น' อยู่หลายปี ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หนังที่เอามาฉายเป็นหนังที่สร้างโดยบริษัทสร้างหนัง Pathe ของฝรั่งเศส หนังที่ฉายแต่ละชุดในยุคนั้น เป็นหนังชุด แต่ละชุดประกอบด้วยหนัง 12 ม้วน แต่ละม้วนยาว 500 ฟุต เวลาฉายหนังจะเริ่มตั้งเเต่ 2 ทุ่ม ไปสิ้นสุดลงเวลา 4 ทุ่ม
เมื่อนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆเห็นว่าการฉายหนังเร่เป็นงานที่ทำเงินได้ดีในสยาม จึงเริ่มมองหาสถานที่และสร้างโรงหนังขึ้นตามที่ต่างๆหลายแห่ง หนังจึงกลายเป็นสิ่งบันเทิงของคนกรุงเทพไปในที่สุด
การฉายหนังของบริษัทต่างชาติในกรุงเทพในยุคนั้นมีการแข่งขันกันสูงมาก มีการลงโฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์กันอย่างเอิกเกริก และต่อมาก็มีการให้จับฉลากตั๋วหนังเพื่อให้ของรางวัลแก่ผู้ดูอีกด้วย ข้อสังเกตคือ ในระยะเวลาช่วงแรกนี้ ยังไม่มีหนังเรื่องใดที่สร้างในเมืองไทยเลย
ในหมู่เจ้าของโรงหนังคนสยามก็มีการแข่งขันกันสูงมากเช่นกัน โดยเฉพาะระหว่างบริษัทใหญ่คือบริษัทรูปยนต์กรุงเทพ และบริษัทพยนต์พัฒนาการ ซึ่งแข่งกันสร้างโรงภาพยนตร์ในเครือของตนขึ้นตามตำบลสำคัญๆทั่วกรุงเทพฯ  ถึงปี 2462 ทั้งสองบริษัทใหญ่นี้ตกลงรวมตัวกันเป็นบริษัทเดียวกัน คือ สยามภาพยนตร์บริษัท กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เกือบจะผูกขาดกิจการค้าภาพยนตร์และกิจการโรงหนังทั่วประเทศ
ปี 2473 เพื่อป้องกันมิให้ภาพยนตร์ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นได้แพร่หลายอย่างกว้างขวาง และมีบทบาทในฐานะสื่อที่มีอิทธิพลสูง รัฐบาลสมัยพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงออกกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่พนักงานตรวจพิจารณาภาพยนตร์ทุกเรื่องก่อนอนุญาตให้นำออกฉาย เรียกว่าพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช 2473
ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่มีการถ่ายทำในเมืองไทยคือเรื่อง นางสาวสุวรรณ ผู้สร้างคือบริษัทภาพยนตร์ Universal หนังเรื่องนี้ใช้ผู้แสดงทั้งหมดเป็นคนไทย
         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น